การวางแผนประกันภัย (Insurance Planning)

การวางแผนประกันภัยนี้ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการวางแผนการเงิน เพราะถือว่าเป็นการบริหารความเสี่ยงชนิดหนึ่ง เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต ทุพลภาพ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ รวมถึงความเสียหายของทรัพย์สินที่เกิดขึ้นแล้ว อาจต้องเสียเงินในการดูแลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การวางแผนการประกันภัยนี้ เปรียบเสมือนกับการวางแผนเพื่ออุดรอยรั่วต่างๆทางการเงินของเรา ในระหว่างที่เราทำงานเพื่อหารายได้มาตอบสนองต่อเป้าหมายทางการเงินต่างๆของเราในอนาคต หากเราไม่ทำการอุดรอยรั่วต่างๆนี้แล้ว หากเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น เราอาจต้องนำเงินเก็บบางส่วน หรืออาจจะทั้งหมดมาใช้ ทำให้เป้าหมายทางการเงินที่เราตั้งใจไว้ ต้องสะดุดหยุดลง

 การวางแผนประกันชีวิต (Life Insurance)

ประกันชีวิตเป็นเครื่องมือหนึ่งในการวางแผนทางการเงินที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ เช่น

  1. เพื่อเป็นทุนการศึกษาของบุตร
  2. เพื่อเป็นเงินออมไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ
  3. เพื่อเป็นกองทุนสำรองในการรักษาพยาบาลจากโรคภัยไข้เจ็บหรืออุบัติเหตุต่างๆ
  4. เพื่อความมั่นคงทางการเงินและคุณภาพชีวิตที่ดีของครอบครัว

ประกันชีวิตแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  1. ชนิดไม่มีส่วนร่วมในเงินปันผล
  2. ชนิดมีส่วนร่วมในเงินปันผล

ประเภทของประกันชีวิต สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  1. ประเภทอุตสาหกรรม
  • เหมาะกับผู้ที่มีรายได้น้อย ทุนประกันภัยเฉลี่ยต่ำ เบี้ยประกันภัยส่วนใหญ่เป็นรายเดือน  ไม่มีการตรวจสุขภาพ
  • มีระยะเวลารอคอย
  1. ประเภทกลุ่ม
  • ให้ความคุ้มครองหลายคนในกรมธรรม์เดียวกัน เหมาะสำหรับเป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน ทุนประกันขึ้นอยู่กับลักษณะงาน   เน้นความคุ้มครองชีวิต
  1. ประเภทสามัญ
  • เหมาะกับผู้ที่มีฐานะปานกลางขึ้นไป ทุนประกันภัยเฉลี่ยปานกลางถึงสูง  การชำระเบี้ยประกันมีทั้งรายเดือน รายไตรมาสและรายปี อาจมีการตรวจสุขภาพหรือแถลงสุขภาพ ทำสัญญาเพิ่มเติมได้

แบบของประกันชีวิตแบ่งออกเป็น 4 แบบปกติ

  1. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ( Term Life Insurance )
  • เป็นประกันชีวิตแบบเบี้ยสูญเปล่า มีระยะเวลาคุ้มครองที่แน่นอน  จ่ายทุนประกันเฉพาะกรณีเสียชีวิตภายในระยะเวลาของสัญญาเท่านั้น  ไม่มีส่วนของการออมทรัพย์  เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่สูงนัก แต่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบสูง หรือใช้ในการคุ้มครองหนี้สิน
  1. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ( Whole Life Insurance )
  • มีระยะเวลาคุ้มครองตลอดชีพสูงสุด 99 ปี  การจ่ายทุนประกันจะจ่ายทั้งกรณีที่เสียชีวิตก่อนครบสัญญา และอยู่ครบสัญญา  มีทั้งความคุ้มครองและการออมบางส่วนด้วย  เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อความคุ้มครองสุขภาพเพิ่มเติม หรือต้องการไว้เป็นมรดกก้อนสุดท้าย
  1. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์  ( Endowment Insurance )
  • มีระยะเวลาคุ้มครองที่แน่นอน การจ่ายทุนประกันมีการจ่ายทั้งกรณีเสียชีวิตก่อนครบสัญญา และอยู่ครบสัญญา  เหมาะสำหรับผู้ที่มีการวางแผนการออมเพื่อเป้าหมายที่แน่นอน
  1.  แบบรายได้ประจำ หรือแบบบำนาญ ( Annuity Insurance )
  •  มีระยะเวลาในการส่งเบี้ยประกันถึงอายุที่กำหนด เช่น 60 ปี  มีการกำหนดอายุที่เริ่มได้รับผลประโยชน์ที่แน่นอน มีรายได้ประจำที่แน่นอนหลังจากเกษียณ ไม่คุ้มครองชีวิต  เหมาะกับผู้ที่ต้องการวางแผนเพื่อมีรายได้หลังเกษียณ

การวางแผนประกันสุขภาพ

ถึงแม้ว่าประกันชีวิตข้างต้น จะมีความสำคัญต่อการวางแผนทางการเงิน การประกันสุขภาพก็มีความสำคัญไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ เพราะการประกันสุขภาพก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่จะนำมาช่วยในการอุดรอยรั่วของแผนการเงิน หลายๆคนอาจจะมองข้ามในเรื่องของการประกันสุขภาพไป เพราะคิดว่าตนเองมีสวัสดิการต่างๆแล้ว แต่มิได้พิจารณาว่า สวัสดิการที่มีอยู่นั้น ครอบคลุมปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น บางครั้งอาจจะรุนแรงถึงขั้นกระทบต่อแผนการเงินที่ได้วางไว้ หรือหนักกว่านั้นอาจกระทบถึงสถานะทางการเงินหรือ ความเป็นอยู่ที่อาจจะวิกฤติขึ้นมาได้

การประกันสุขภาพ เป็นการโอนความเสี่ยงในเรื่องของภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในด้านสุขภาพ ไปให้กับบริษัทประกันเป็นผู้รับภาระต่างๆนั้นแทน ทำให้เราไม่ต้องนำเงินที่เก็บสะสมไว้ออกมาใช้ ทำให้เป้าหมาย หรือสภาพความเป็นอยู่ของเรายังเป็นไปตามปกติ

สัญญาเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ

  1. กลุ่มที่ให้ความคุ้มครองสุขภาพ

เป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ทั้งแบบที่เป็นผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน จากการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือจากอุบัติเหตุ

  1. กลุ่มที่ให้ความคุ้มครองในด้านการชดเชยรายได้

เป็นการชดเชยการสูญเสียรายได้หากต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล รวมถึงการชดเชยกรณีทุพพลภาพ ไม่สามารถทำงานหารายได้ต่อไปได้ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวบางส่วนได้

  1. กลุ่มที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับโรคร้ายแรง

ซึ่งมีทั้งการขดเชยเป็นรายวันและการชดเชยเป็นเงินก้อน เพื่อช่วยให้มีทุนในการรักษาโรคร้ายแรงนั้นๆ ซึ่งบางโรคมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ค่อนข้างสูง

  1. กลุ่มที่ให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุ

เป็นการให้ความคุ้มครองในด้านการชดเชยค่ารักษาพยาบาล การชดเชยการสูญเสียอวัยวะ รวมถึงการสูญเสียชีวิตอันเนื่องจากอุบัติเหตุ ซึ่งในปัจจุบันมีการรวมความคุ้มครองไปถึงการถูกฆาตกรรม ลอบทำร้าย หรือการจลาจลอีกด้วย

 การวางแผนประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance)

การวางแผนทางการเงินจะไม่สมบูรณ์เลย หากยังมีช่องโหว่ให้เงินรั่วไหลได้ การประกันวินาศภัยเป็นการอุดรอยรั่วที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของเรา หากเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สิน การประกันวินาศภัยจะเป็นการช่วยบรรเทาความสูญเสียทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวได้ การประกันวินาศภัย เป็นการซื้อความคุ้มครองให้กับทรัพย์สิน เพื่อช่วยให้แผนการเงินของเราแข็งแกร่งขึ้น

การประกันวินาศภัย แบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ

  1. การประกันภัยที่เกี่ยวกับบุคคล แบ่งเป็น
  • ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล
  • ประกันอุบัติเหตุหมู่
  1. การประกันภัยเกี่ยวกับทรัพย์สิน แบ่งเป็น
  • การประกันอัคคีภัย ประกันอัคคีภัยสำหรับภัยทั่วไป  ประกันอัคคีภัยสำหรับทีอยู่อาศัย การประกันภัยรถยนต์  ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ เช่น พรบ. ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ
  • การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง ประกันภัยการขนส่งสินค้า การประกันภัยตัวเรือ การประกันภัยเบ็ดเตล็ด
  1. การประกันภัยเกี่ยวกับความรับผิดทางกฎหมาย
  2. การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยอื่นๆ