การวางแผนมรดก ( Estate Planning )

          การวางแผนมรดก คือการวางแผนที่จะส่งต่อซึ่งทรัพย์สิน ไปยังทายาทหรือผู้ที่เจ้าของมรดกต้องการยกให้ ได้อย่างถูกต้องดังที่ตั้งใจและมีประสิทธิภาพสูงที่สุดเมื่อเจ้ามรดกตาย

          มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน บ้าน เงินฝาก และนอกจากทรัพย์สินแล้วยังรวมถึงบรรดาสิทธิหน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในวันที่ตายหรือที่จะมีขึ้นในวันข้างหน้า ภายหลังจากที่ตายแล้วด้วยเช่นสัญญาเช่าบ้านมีกำหนดสิบปี เช่าไปได้ 1 ปีแล้วเกิดตายลง สิทธิที่จะเช่าบ้านนั้นต่อไปอีก 4 ปี ก็จะตกเป็นกองมรดก ในขณะเดียวกันหน้าที่หรือความรับผิดในการชำระค่าเช่าที่ค้างอยู่ก็ดี หรือที่จะชำระต่อไปในวันหน้าก็ดี ล้วนตกเป็นกองมรดกด้วยกันทั้งสิ้น อันได้แก่

           1.ทรัพย์สินต่างๆ ของคนตาย ถือว่าเป็นทรัพย์มรดกอันดับแรก ที่จะตกไปยังทายาทของคนตาย ทรัพย์มรดกนี้ คือสิ่งของที่มีค่าทุกอย่างที่สามารถตีราคาออกเป็นตัวเงินได้ และรวมไปถึงสิ่งของต่างๆ ที่มีค่าทางจิตใจ แต่ไม่สามารถตีราคาออกเป็นตัวเงินได้

           2.สิทธิและหน้าที่ ของคนตาย ก็เป็นมรดกที่จะตกทอดไปยังลูกๆ หรือทายาทของคนตายด้วยเช่นกัน เช่น สิทธิและหน้าที่ในการเช่า สิทธิตามสัญญาภาระจำยอม สิทธิในการครอบครองที่ดินต่างๆ ส่วนหน้าที่ ก็เช่น หน้าที่ในการไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้กับคนซื้อ หรือหน้าที่ส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขาย หน้าที่ในการชำระหนี้ตามสัญญากู้ หน้าที่ในการชำระเงินค่าซื้อสินค้า หรือหน้าที่ชำระหนี้สินต่างๆ เป็นต้น

           3.ความรับผิด ก็ถือเป็นมรดกอีกเช่นกัน ความรับผิดที่ว่านี้ก็อย่างเช่น ความรับผิดในเหตุการณ์ละเมิดขับรถไปชนคนอื่น ความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ เป็นต้น

         ยกเว้น สิทธิ หน้าที่ หรือความรับผิด ที่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย เช่น การรับจ้างที่ผู้ตายต้องทำด้วยตนเองเท่านั้น ย่อมไม่ตกทอดไปถึงทายาท แต่หากว่าได้รับค่าตอบแทนมาก่อนแล้ว ค่าตอบแทนที่ได้รับมาก่อนนั้น จะกลายเป็นหนี้ที่ทายาทจะต้องชดใช้คืนให้แก่ผู้จ้าง

          ทรัพย์สินของผู้ตายนั้น ต้องเป็นทรัพย์สินของผู้ตายจริง ๆ ไม่ใช่ทรัพย์สินทั้งหมดที่สามีภริยามีอยู่ร่วมกัน เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์สินที่มีอยู่ระหว่างสามีภริยาจะต้องแยกออกจากกันเสียก่อน ส่วนของใครก็เป็นของของคนนั้น จะทำพินัยกรรมยกให้ใครก็ได้แต่จะต้องยกเฉพาะส่วนที่เป็นของตนเท่านั้น ถ้าไม่มีพินัยกรรม และทรัพย์สินจะตกให้แก่ทายาทโดยธรรม ทรัพย์สินที่จะตกไปย่อมจำกัดอยู่แต่เฉพาะส่วนที่เป็นของผู้ตาย ไม่รวมถึงส่วนที่เป็นของคู่สมรสด้วย

           ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับมรดก

          สำหรับผู้ที่จะได้รับมรดกนี้  มิได้กำหนดไว้ว่ามีใครบ้าง ก็ต้องมองดูจากเจ้ามรดกไปเริ่มจากญาติใกล้ตัวเจ้ามรดกไปจนถึงห่างออกไป และก็รวมถึงคู่สมรสของเจ้ามรดกด้วย  หรือเจ้ามรดกจะทำเป็นหนังสือกำหนดว่าเมื่อตายลงแล้ว ให้มรดกของตนตกได้แก่ใครก็ได้ ฉะนั้นจึงแบ่งทายาทออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ

1.        ทายาทโดยพินัยกรรมธรรม

           คือเป็นเรื่องของผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ ซึ่งอาจเป็นคนอื่นก็ได้คือจะการยกให้ใครแม้ไม่ใช่ญาติของตนก็ได้ ถ้าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ใคร ผู้รับพินัยกรรมย่อมได้รับมรดกตามนั้น และถ้าทำพินัยกรรมยกมรดกให้ใครหมดแล้ว ทายาทโดยธรรมก็จะไม่ได้รับมรดกเลย กล่าวโดยสรุปก็คือ ทายาทโดยธรรมจะได้รับมรดกก็ต่อเมื่อไม่มีพินัยกรรมระบุไว้เป็นอย่างอื่น หรือถึงมีพินัยกรรมกำหนดไว้แล้วแต่ยังมีทรัพย์สินหลงเหลืออยู่ ทรัพย์สินที่หลงเหลืออยู่จึงจะตกไปถึงทายาทโดยธรรม แต่ทายาทโดยธรรมอาจเป็นผู้รับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมด้วยก็ได้ เช่น พ่อทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ลูก ๆ จนหมด ในกรณีนั้นลูก ๆ จะได้รับมรดกในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรม ส่วนในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม ถ้าบังเอิญมีทรัพย์สินเหลืออยู่ ทรัพย์สินเหล่านั้นก็จะตกได้แก่ลูก ๆ ในฐานะทายาทโดยธรรมด้วย

           2. ทายาทโดยธรรม

          คือ ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย หมายความว่าพวกนี้กฎหมายกำหนดเลยว่าได้แก่ใครบ้าง เช่น บุตรของผู้ตาย  บิดามารดาของผู้ตาย  คู่สมรสของผู้ตาย พวกนี้พอเจ้ามรดกตายปุ๊บก็ได้ปั๊บทันทีดังที่กล่าว ซึ่งประกอบด้วยทายาทที่เป็นญาติ เช่น ผู้สืบสันดานอันได้แก่บุตรของผู้ตายเป็นต้น และทายาทที่เป็นคู่สมรสคือภริยาหรือสามีของผู้ตาย

           ทายาทโดยธรรมนั้น กฎหมายแบ่งออกเป็น 6 ลำดับ มีสิทธิรับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้

           1.ผู้สืบสันดาน อันได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื้อ และต่อๆ ไปจนสุดสาย

           2.บิดามารดา

           3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

           4.พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

           5.ปู่ ย่า ตา ยาย

           6.ลุง ป้า น้า อา

          ใครก็ตามที่เป็นทายาทและบวชเป็นพระภิกษุ จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ จะต้องสึกออกมาจากสมณะเพศเสียก่อนจึงจะเรียกร้องเอาได้ เว้นแต่จะมีผู้ทำพินัยกรรมยกให้แก่ท่าน ท่านอาจเรียกร้องเอาได้แม้ว่าจะยังอยู่ในสมณะเพศ

          เมื่อคู่สมรสคนหนึ่งตายไป การสมรสย่อมสิ้นสุดลง ทรัพย์สินที่ทั้งสองมีอยู่ด้วยกันย่อมแยกออกจากกันโดยผลของกฎหมาย แม้ว่าในความเป็นจริงทรัพย์สินทั้งหมดจะยังอยู่รวม ๆ กัน บางชิ้นก็เป็นชื่อของคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทรัพย์สินนั้นจะเป็นของคนนั้นแต่เพียงผู้เดียว

          การที่คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่จะต้องได้รับทรัพย์สินส่วนของตนแยกมาก่อน ในส่วนของสินสมรส ส่วนที่เหลือที่เป็นส่วนของผู้ตายนั้น จึงมีฐานะเป็นมรดก ที่จะนำไปแบ่งตามสัดส่วน

สิทธิการรับมรดกในระหว่างทายาทโดยธรรม

           1.ถ้ามีทายาทลำดับ 1 คือผู้สืบสันดาน

           > ทายาทในลำดับอื่น ๆ หมดสิทธิที่จะได้รับมรดกโดยสิ้นเชิง ยกเว้นทายาทลำดับ 2 และคู่สมรส ซึ่งต่างจะมีสิทธิรับมรดกเสมือนหนึ่งเป็นผู้สืบสันดานคนหนึ่ง

           > คนที่เป็นลูกของเจ้ามรดกเท่านั้นจึงจะมีสิทธิได้รับมรดก ส่วนบรรดาหลาน เหลน หรือลื้อ จะไม่มีสิทธิได้รับมรดกโดยตรง แต่ถ้าลูกคนใดตายไปก่อนเจ้ามรดก และลูกคนนั้นมีลูก หรือมีหลาน ลูกหรือหลานเหล่านั้นก็จะรับมรดกแทนที่พ่อหรือแม่ของตน และเป็นเช่นนี้ไปตลอดจนกว่าแต่ละสายจะสิ้นสุดลง

           2. ถ้าผู้ตายไม่มีผู้สืบสันดานและผู้สืบสันดานไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ แต่มีบิดามารดา

           > มรดกย่อมตกไปยังคู่สมรสกึ่งหนึ่งและตกเป็นของบิดามารดาอีกกึ่งหนึ่ง โดยทายาทลำดับถัด ๆ ไปจะไม่มีสิทธิได้รับมรดกเลย

           > ถ้าบิดามารดาตายไปก่อน จะมีการรับมรดกแทนที่บิดามารดาไม่ได้ มรดกย่อมตกไปสู่ทายาทลำดับ 3 ต่อไป

           3. สำหรับทายาทลำดับ 3 คือ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

           > คู่สมรสจะได้รับมรดกไปกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งตกเป็นของ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน มีกี่คนก็แบ่งไปเท่า ๆ กัน ถ้าคนหนึ่งคนใดตายไปก่อนเจ้ามรดก ถ้ามีลูกหลาน ลูกหลานก็เข้ามารับมรดกแทนที่กันต่อ ๆ ไปจนสุดสาย

           4. ถ้าไม่มีทายาทลำดับ 3 และไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ มรดกย่อมตกไปสู่ทายาทลำดับ 4 คือ  พี่น้องร่วมบิดา หรือร่วมมารดาเดียวกัน

           > การแบ่งมรดกจะแบ่งให้คู่สมรสก่อน 2 ใน 3 ส่วน ที่เหลือจึงจะตกได้แก่ทายาทลำดับ 4 ซึ่งต้องไปแบ่งกันเองคนละเท่า ๆ กัน และก็เช่นเดียวกับทายาทลำดับ 3 คือ ถ้าใครตายไปก่อน มรดกของคนนั้นก็จะถูกทายาทของตนรับมรดกแทนที่ต่อ ๆ ไปจนสุดสาย

           5. ถ้าไม่มีทายาทลำดับ 4 และไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ มรดกจะตกไปสู่ทายาทลำดับ 5 คือ ปู่ย่าตายาย

           > ซึ่งคู่สมรสของผู้ตายจะได้รับมรดกก่อน 2 ใน 3 ส่วน ส่วนที่เหลือจึงจะนำไปแบ่งกันในระหว่างปู่ ย่า ตา ยาย ถ้าใครตายก่อนก็เป็นอันหมดสิทธิไป เพราะจะไม่มีการรับมรดกแทนที่เหมือนทายาทลำดับอื่น ๆ

           6. ถ้าไม่มีปู่ย่าตายาย มรดกจะตกไปสู่ทายาทลำดับ 6 คือ ลุง ป้า น้า อา

           > ซึ่งคู่สมรสของผู้ตายจะได้รับมรดกก่อน 2 ใน 3 ที่เหลือจึงจะนำมาแบ่งปันกันกับลุง ป้า น้า อา ถ้าใครตายไปก่อนมรดกของคนนั้นก็จะตกทอดไปสู่ทายาทของคนนั้นอันเป็นการรับมรดกแทนที่

           7. ถ้าไม่มีทายาททั้ง 6 ลำดับและไม่มีผู้รับมรดกแทนที่เหลืออยู่เลย คงเหลือแต่คู่สมรสคนเดียว มรดกทั้งหมดจะตกได้แก่คู่สมรส

           8. ถ้าไม่มีทายาท ไม่มีคู่สมรส และยังมิได้ทำพินัยกรรมไว้ด้วย มรดกนั้นย่อมตกให้แก่แผ่นดิน

 ผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดก

          การที่ทายาทโดยธรรมจะถูกตัดไม่ให้ได้รับมรดก อาจมีได้ 3 กรณี คือ

           1. ถูกกำจัดมิให้ได้มรดก ซึ่งเกิดขึ้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้

           > ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้น โดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นจะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลย แต่ถ้ายักย้ายหรือปิดบังน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ก็จะถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้

           > ทายาทที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ พยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตน ถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

           > ทายาทที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิต และตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ ถ้าฟ้องแล้วปรากฏว่าเจ้ามรดกมีความผิดจริง หรือถึงแม้ไม่ผิดจริงแต่มิใช่เพราะเหตุตนนำความเท็จหรือพยานเท็จมาสู่ศาล ทายาทผู้นั้นก็ยังมีสิทธิได้รับมรดกตามปกติ

           > ทายาทที่รู้อยู่แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำความขึ้นร้องเรียนเพื่อที่จะเอาตัวคนทำผิดมาลงโทษ เว้นแต่ทายาทนั้นอายุยังไม่ครบ 16 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยา หรือผู้บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตน

           > ทายาทที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้ทำการดังกล่าว

           > ทายาทที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด

           2. การถูกตัดมิให้รับมรดก เจ้ามรดกอาจตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้ด้วยการแสดงเจตนาไว้อย่างชัดแจ้ง ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้

           > แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรม

           > ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

           > ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้คนอื่นจนหมด ทายาทโดยธรรมคนใดไม่ได้รับมรดกตามพินัยกรรม ทายาทคนนั้นย่อมถือว่าถูกตัดมิให้รับมรดก

           3. การสละมรดก ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดก อาจไม่ประสงค์จะรับมรดกดังกล่าวก็ได้

           > โดยทำเป็นหนังสือแสดงเจตนาสละมรดกไว้ให้ชัดแจ้ง หรือจะทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความก็ได้ แต่การสละมรดกนั้นจะสละเพียงบางส่วน หรือสละโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้

           > การสละมรดกจะทำก่อนที่เจ้ามรดกตายไม่ได้ แต่เมื่อเจ้ามรดกตายแล้วจะสละมรดกเมื่อไรก็ได้ และเมื่อสละมรดกแล้วให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

           > การสละมรดกเป็นเรื่องเฉพาะตัว เมื่อได้สละมรดกแล้วทรัพย์สินส่วนที่สละไปย่อมตกไปเป็นของผู้สืบสันดานของคนสละมรดก