การวางแผนภาษี ( Tax planning )

          การวางแผนภาษี ก็คือ การวางแผนเพื่อที่จะเสียภาษีในจำนวนเงินที่น้อยที่สุด อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยการทำให้รายรับสุทธิก่อนหักภาษีน้อยลง จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ  ไม่ว่าจากการหักค่าใช้จ่าย หรือจากค่าลดหย่อนต่างๆ รวมถึงการวางแผนเพื่อที่จะชำระให้ถูกต้องครบถ้วน และตรงตามกำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงการที่ต้องชำระภาษีเพิ่ม หรือค่าปรับต่างๆ ซึ่งจะทำให้มีเงินเหลือไปใช้จ่าย หรือนำไปลงทุนให้เกิดประโยชน์ต่อไป

           การวางแผนภาษีส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไร เมื่อวางระบบเริ่มต้นได้แล้ว ปีต่อๆ มาเพียงทบทวนบ้าง เพื่อไม่ให้เสียโอกาสดีๆ ในการประหยัดเงินสดเท่านั้น ซึ่งเรื่องต้องรู้เพื่อให้การวางแผนภาษีเกิดประโยชน์สูงสุด มีดังนี้

1.รู้และเข้าใจกฎ ข้อบังคับ แนวปฏิบัติทางภาษีที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการเสียภาษีไม่ถูกต้อง

2.รู้ประเภทของรายได้ รู้ค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้ รู้ค่าลดหย่อนเพื่อลดภาษี รวมถึงรู้วิธีการคำนวณภาษี และรู้ช่องทางการยื่นภาษี

3.รู้จัดการและจัดเก็บข้อมูลภาษีของตัวเอง ทั้งการเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลรายได้ เอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่าย เอกสารการลงทุน กรมธรรม์ประกันชีวิต ฯลฯ การทำสรุปข้อมูลเหล่านี้ทุกเดือน จะช่วยให้เรารู้ล่วงหน้าว่าเราจะต้องเสียภาษีเพิ่มเติม หรือจะประหยัดภาษีได้ประมาณเท่าไร ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนภาษี

4.รู้จักใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการที่จะช่วยลดภาระภาษี เช่น การทำประกันชีวิต บำนาญการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ให้สิทธิทางภาษี  การท่องเที่ยวเมืองรอง  การออมแห่งชาติ เป็นต้น

          ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีภาษี โดยมีสถานะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

1.บุคคลธรรมดา คือ ผู้ที่มีเงินได้ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทารก ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ

2.ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

3. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี หมายถึง บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี แต่ได้ถึงความตายระหว่างปีภาษี ก่อนที่จะยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ถึงแม้ว่าจะสิ้นสภาพบุคคลไปแล้ว แต่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ทายาท หรือผู้ครองทรัพย์มรดก มีหน้าที่ไปยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีแทน

4. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง หมายถึง กองมรดกของผู้ตาย ที่ยังไม่ได้แบ่งให้กับทายาทในปีภาษี ถัดจากปีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หากกองมรดกดังกล่าวมีเงินได้เกิน 30,000 บาท ผู้จัดการมรดก ทายาท หรือผู้ครอบครองมรดก มีหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี

           หน่วยภาษีทั้ง 4 หน่วยนี้ ถ้ามีเงินได้เกิดขึ้น ก็ให้นำเงินได้ที่ได้รับมาทำการเสียภาษีในนามของแต่ละหน่วยภาษี โดยให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการยื่นแบบแสดงรายการเป็นผู้ยื่นแบบฯ ซึ่งผู้มีหน้าที่เสียภาษีกับผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการอาจเป็นคนเดียวกัน หรือคนละคนก็ได้

          เริ่มที่ รายได้ เพราะการที่เราต้องเสียภาษีก็เนื่องมาจากการมีรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือเป็นลูกจ้างขององค์กรต่างๆ เป็นหลัก การจัดการกับภาษีเงินได้ที่ได้จากเงินเดือนหรือค่าจ้างจึงไม่ยากเย็นนัก แต่หากมีรายได้เสริมจากทางอื่นด้วย ก็ต้องวางแผนให้ดีว่าจะเลือกรับเงินเป็นประเภทไหน รับเป็นเงินเดือน หรือรับเป็นงานเหมา เพราะนั่นจะส่งผลต่อจำนวนภาษี ที่ต้องจ่ายซึ่งมีจำนวนที่ไม่เท่ากันแน่นอน เนื่องจากว่ารายได้แต่ละประเภทสามารถหักค่าใช้จ่าย ได้ไม่เท่ากัน ซึ่งนอกจากค่าใช้จ่ายแล้ว ยังมีอีกสิทธิประโยชน์หนึ่งที่เราสามารถนำเอาค่าลดหย่อนต่างๆ มาหักออกจากรายได้ ซึ่งค่าลดหย่อนเหล่านี้จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ตัวเลขรายได้จริงลดลงและเสียภาษีน้อยลง

          แหล่งเงินได้ คือ แหล่งที่มาของเงินได้ ซึ่งแบ่งได้เป็นเงินได้จากแหล่งในประเทศและนอกประเทศ โดยเงินได้จากแหล่งต่างๆเหล่านี้ จะต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งมีข้อพิจารณาดังนี้

1.กรณีเงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศ หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้น หรือเป็นผลสืบเนื่องจาก

> หน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย กิจการที่ทำในประเทศไทย กิจการของนายจ้างในประเทศไทย ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ฯลฯ) ไม่ว่าเงินได้นั้นจะถูกจ่ายในหรือนอกประเทศ และไม่ว่าผู้มีเงินได้นั้นจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม

2.กรณีเงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศไทย หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลสืบเนื่องจาก

> หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ  กิจการที่ทำในต่างประเทศ  ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ

          ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศ จะต้องเสียภาษีเงินได้ ในประเทศไทยก็ต่อเมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ประการ ดังต่อไปนี้

1. ผู้มีเงินได้อยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 180 วัน และ

2.ได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย

            รายได้ที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีมีอยู่ 8 ประเภท โดยแบ่งตามอาชีพและต้นทุนในการประกอบอาชีพที่แตกต่างกัน เพื่อความเป็นธรรมในการคำนวณและจ่ายภาษีมากที่สุด ซึ่งได้แก่

1.รายได้จากการจ้างงาน ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น

> เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ , เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง , เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ซึ่งนายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า, เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ, เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น มูลค่าของการได้รับประทานอาหาร เป็นต้น

2.รายได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือการรับทำงานให้ ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็น

> ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด, เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส, เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้, เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้าน ที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า, เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ, เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือ จากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว

3.รายได้จากทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล

4.รายได้ที่เป็นดอกผลหรือผลตอบแทน ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร   เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น เป็นต้น

5.รายได้จากค่าเช่าทรัพย์สิน เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินหรือประโยชน์อย่างอื่น  ที่ได้ > การให้เช่าทรัพย์สิน, การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน ซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้น โดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว

6.รายได้จากอาชีพอิสระ 6 อาชีพ ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้

>แพทย์ หักค่าใช้จ่ายได้ 60%

>ทนายความ วิศวกร สถาปนิก ผู้ตรวจสอบบัญชี และจิตรกร หักค่าใช้จ่ายได้ 30%

7.รายได้จากการรับเหมาพร้อมอุปกรณ์และสัมภาระ ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ

8.รายได้จากการประกอบธุรกิจ ได้แก่ เงินได้จาก

> การทำธุรกิจ, การพาณิชย์, การเกษตร, การอุตสาหกรรม, การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว

          ค่าลดหย่อน หมายถึง รายการต่างๆ ที่กฎหมายได้กำหนดให้สามารถหักได้เพิ่มขึ้น หลังจากได้หักค่าใช้จ่ายแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี ก่อนนำเงินได้ที่เหลือ ซึ่งเรียกว่าเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษี ซึ่งรายการหักลดหย่อนกรณีต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้

1.ผู้มีเงินได้

สามารถหักลดหย่อนได้ 60,000 บาท

2.สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้

สามารถหักลดหย่อนได้ 60,000 บาท 

>สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ที่มีสิทธิหักลดหย่อน จะต้องเป็นสามีหรือภริยาชอบด้วยกฎหมาย การสมรสไม่ครบปีภาษีก็มีสิทธิหักลดหย่อนได้

>สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ที่จะนำมาหักลดหย่อน จะต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินหรือมีแต่ไม่ได้แยกคำนวณภาษี

3.บุตรให้หักสำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามี หรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย

สามารถลดหย่อนได้ คนละ 30,000 บาท

4.ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้

สามารถหักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท และยังสามารถหักลดหย่อนบิดามารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้อีกคนละ 30,000 บาท โดย

>บิดามารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป

>มีรายได้ในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี

>อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้

>บิดามารดาของผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสจะต้องออกหนังสือรับรอง ว่าบุตรคนใดคนหนึ่งเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูเพียงคนเดียว (บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อน)

5.ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ

สามารถหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดย

>คนพิการหรือคนทุพพลภาพนั้นต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาท

>ผู้มีเงินได้ต้องเป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ หรือ

>ผู้มีเงินได้ต้องมีเอกสารมาแสดงเพื่อขอใช้สิทธิหักลดหย่อนคนทุพพลภาพ คือ ใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ   

6.ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ของผู้มีเงินได้และคู่สมรส

สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดย

>ผู้ชำระเบี้ยต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา มารดา

>บิดา มารดา ต้องไม่มีรายได้ หรือมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาท

>ผู้ชำระเบี้ย หรือบิดา หรือมารดา คนใดคนหนึ่งต้องอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 180 วัน

>กรณีมีหลายคนร่วมชำระเบี้ยประกันสุขภาพของบิดา มารดา ให้เฉลี่ยหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดา มารดาตามจำนวน แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท

7.ค่าเบี้ยประกันชีวิต

>กรมธรรม์ประกันชีวิตทั่วไป ค่าเบี้ยประกันชีวิตของตัวผู้มีเงินได้เอง นำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท (เบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท)

>เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

•เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีผลประโยชน์เงินคืนไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปีหรือเบี้ยประกันชีวิตสะสม

>กรมธรรม์นั้นต้องออกจากบริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการในประเทศไทย

>กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ  หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท (เมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท)

>เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

>ต้องได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญตั้งแต่อายุ 55 – 85 ปี หรือกว่านั้น

>ผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้ว ก่อนได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ

>ต้องได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอขณะมีชีวิตอยู่

>กรมธรรม์นั้นต้องออกจากบริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการในประเทศไทย

8.เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

9.เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

สมาชิกที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสามารถนำไปหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท (ให้นำไปหักจากเงินได้)

10.เงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ

ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนการออมแห่งชาติ สามารถนำไปหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท (และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ + เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ + เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน + เงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท)

11.ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง  แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น (และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ + เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ + เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน + เงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท)

12.ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)

ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

13.ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย

ให้ได้รับลดหย่อนและยกเว้นได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท

14.เงินสมทบกองทุนประกันสังคม

หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม

15.ค่าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ (ตามประกาศเพิ่มเติม)

สำหรับค่าบริการหรือค่าที่พัก ในการท่องเที่ยวภายในประเทศ ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้

>ค่าอาหารและเครื่องดื่มจากร้านอาหารหรือโรงแรม (ยกเว้น สุรา เบียร์ ไวน์)

>ค่าบริการนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ (ค่าแพ็กเกจทัวร์)

>ค่าที่พักในโรงแรมให้กับผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม 

16.เงินได้ที่จ่ายไปเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด 

>ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง โดย

>ให้ใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 20% ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ โดยหักลดหย่อนตั้งแต่ปีที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ และให้หักลดหย่อนต่อเนื่องกัน 5 ปี ๆ ละเท่าๆ กัน 

17.เงินบริจาค

เป็นรายการลดหย่อนสุดท้ายก่อนนำเงินได้ไปคำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้า โดยสามารถหักเงินบริจาคได้ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน (หักลดหย่อนได้เฉพาะที่บริจาคเป็นเงินเท่านั้น) ได้แก่ การบริจาคเงินให้แก่วัดวาอาราม สภากาชาดไทย สถานพยาบาล และสถานศึกษาของทางราชการ หรือองค์การของรัฐบาล สถานศึกษาเอกชน สถานสาธารณกุศล และกองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ