การวางแผนเกษียณอายุ ( Retirement Planning )

          ในปัจจุบันนี้ คนไทยเรามีอายุขัยเฉลี่ยที่ยาวนานขึ้นกว่าในอดีต ทั้งนี้เป็นผลมาจากความเจริญ ก้าวหน้าทางการแพทย์ที่สูงขึ้น และคนเราหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้นด้วย จึงทำให้ช่วงอายุหลังเกษียณยาวนานขึ้น ในขณะที่ระยะเวลาในการทำงานเพื่อหาเงินนั้นยังเท่าเดิม ดังนั้นการที่จะทำให้สามารถดำรงชีวิตภายหลังเกษียณอย่างมีความสุขนั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดีพอ เพื่อให้มีเงินพอสำหรับการดำรงชีวิต รวมถึงค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพที่อาจมากขึ้นด้วยในอนาคต

           การวางแผนเพื่อการเกษียณนั้นเป็นกระบวนการที่จะหาจำนวนเงินที่จำเป็นจะต้องมี เพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่างๆตามมาตรฐานการครองชีพในปัจจุบัน รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพที่ต้องเสื่อมลงตามวัยที่เพิ่มขึ้น โดยไม่เป็นภาระแก่บุคคลอื่น

           ซึ่งปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการวางแผนเพื่อการเกษียณที่ล้มเหลว ที่เกิดขึ้นกับหลายๆคนเนื่องมาจากความเข้าใจที่ผิดๆในหลายๆเรื่อง เช่น

–  มองว่าเรื่องการเกษียณอายุนั้นเป็นเรื่องไกลตัว ยังอีกนานกว่าจะถึงเวลานั้น ค่อยๆทำงานเก็บเงินไว้ก็น่าจะยังทันเวลา ทั้งๆที่ความเป็นจริงนั้น การวางแผนเกษียณจำเป็นต้องเริ่มให้เร็วที่สุด หมายความว่าควรเริ่มต้นวางแผนเกษียณทันทีที่เริ่มทำงานมีรายได้ เพราะการที่มีระยะเวลาในการเก็บออมที่ยาวนาน จะทำให้ภาระในการเก็บออมนั้นไม่มาก จึงมีโอกาสที่แผนการเกษียณอายุนั้นจะสำเร็จสูงขึ้น

–  มองว่าชีวิตหลังเกษียณนั้นใช้เงินจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับการดำเนินชีวิต และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยไม่ได้คำนึงว่า กว่าจะถึงวันเกษียณ และจากวันเกษียณไปจนถึงวันที่คาดว่าจะสิ้นอายุไขนั้น ค่าครองชีพ หรือค่าใช้จ่ายต่างๆจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าใดอันเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อในด้านสุขภาพนั้นมีอัตราที่สูงขึ้นอย่างมากในแต่ละปี

–  หวังพึงสวัสดิการจากกองทุนประกันสังคม หรือกองทุนเลี้ยงชีพอื่นๆ ที่จะได้มาหลังจากเกษียณก็น่าจะเพียงพอต่อความต้องการแล้ว ทั้งๆที่ยังไม่เคยที่จะคิดคำนวณดูว่า จริงๆแล้วความต้องการที่แท้จริงนั้นเป็นเท่าไหร่ และสวัสดิการที่มีอยู่นั้นยังสามารถรองรับในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆได้พอหรือไม่

          ดังนั้นการพึ่งตนเองในการวางแผนเพื่อการเกษียณเสียตั้งแต่วันนี้ จึงเป็นสิ่งที่สมควรทำที่สุด เพื่อความไม่ประมาท เพราะหากถึงเวลาแล้ว ปรากฏว่าจำนวนเงินที่เตรียมไว้นั้นไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย และการดำรงชีพแล้ว จะกลับมาแก้ไขใหม่นั้นเป็นไปไม่ได้เลย

           เหตุผลที่ว่า ทำไมการวางแผนเกษียณจึงต้องเริ่มต้นให้เร็วที่สุด ก็เนื่องมาจากว่า สิ่งที่จะมีผลต่อเป้าหมายในการเกษียณของเรา คือ จำนวนเงินที่เก็บในแต่ละงวด อัตราผลตอบแทนที่ได้รับ ระยะเวลาในการเก็บออมเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ดังนั้นการเริ่มต้นให้เร็ว และเลือกเครื่องมือในการบริการเงินออมที่เหมาะสม จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้แผนการเกษียณเป็นไปตามเป้าหมายได้

ขั้นตอนในการวางแผนเพื่อเกษียณ

  1. กำหนดเป้าหมาย หรือความต้องการหลังเกษียณ

           เป้าหมายหรือความต้องการนี้ ขึ้นอยู่กับวิถีการใช้ชีวิตและสถานภาพของแต่ละบุคคล ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทราบว่า หลังเกษียณแล้ว เรามีความต้องการที่จะดำเนินชีวิตไนลักษณะใด

      2.  กำหนดวิธีการที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมาย

           ไม่ว่าจะเป็นการออมเงินเพิ่ม การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การหารายได้ให้มากขึ้น หรือการลงทุนเพื่อให้มีดอกผลเติบโตเพิ่มขึ้น เป็นต้น

       3.เขียนแผนการเกษียณออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรและตัวเลข

           เพื่อที่จะได้ทราบถึงกรอบความเป็นไปได้ของแผนที่ได้จัดทำขึ้น และเพื่อที่จะได้ทำการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไข ก่อนนำแผนออกไปใช้

       4.  นำแผนที่ได้จัดทำออกไปสู่การปฏิบัติ

           แผนที่จัดทำแล้วจะไม่สามารถสำเร็จได้เลย หากปราศจากการนำไปปฏิบัติ หากเกิดปัญหาใดๆจะได้ทำการแก้ไขได้ทันท่วงที

       5.  ทบทวนและปรับปรุงแผนให้เหมาะสมอยู่เสมอ

           เป็นไปไม่ได้ที่แผนการเกษียณนี้ทำครั้งเดียว จะสามารถนำไปใช้ได้จนถึงเวลาเกษียณอายุจริงๆ เนื่องจากเป็นการวางแผนระยะยาว ทำให้ในระหว่างปฏิบัติตามแผนนั้นอาจมีปัจจัยภายนอกมากระทบ ทำให้แผนที่วางไว้คลาดเคลื่อนไปได้

ปัจจัยที่ต้องคำนึงก่อนการจัดทำกองทุนเกษียณ

  1. กำหนดอายุที่ต้องการเกษียณ

           การกำหนดว่าจะเกษียณตอนอายุเท่าไหร่ เพราะอายุที่คาดว่าจะเกษียณ จะเป็นตัวกำหนดว่า เรามีเวลาในการที่จะทำงานเพื่อเก็บเงินได้อีกกี่ปี

      2. ประมาณการช่วงระยะเวลาหลังเกษียณ

           เป็นการคาดการณ์อายุขัยที่ที่จะมีชีวิตต่อไปหลังจากเกษียณ จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่า เราจะต้องใช้เงินต่อไปอีกกี่ปี ในขณะที่ไม่มีรายได้เข้ามา

       3.ประมาณการค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ

           เงินจำนวนนี้ หมายถึงจำนวนเงินที่จำเป็น ที่จะต้องใช้ในช่วงระยะเวลาหลังเกษียณไปจนถึง ระยะเวลาที่คาดว่าจะสิ้นอายุขัย โดยประมาณการได้จากลักษณะการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน แต่ต้องไม่ลืมในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อประกอบด้วย เพราะฉะนั้นจำนวนเงินที่ต้องการในอนาคต จะต้องมากกว่าปัจจุบันเสมอ ตามอัตราเงินเฟ้อต่อปี

       4. ประมาณการแหล่งเงินทั้งหมดที่ได้มีการเตรียมไว้แล้ว

           คาดว่าช่วงเกษียณนั้นจะมีทรัพย์สินหรือรายได้ที่จะสามารถแปลงมาเป็นค่าใช้จ่ายในยามเกษียณ หรือเงินกองทุนที่ได้เตรียมไว้ใช้ยามเกษียณ มีมูลค่าเป็นเพียงพอหรือไม่อย่างไร

       5.  เปรียบเทียบระหว่างจำนวนเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณ กับจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่ได้เตรียมไว้

           ข้อแนะนำในการจัดทำแผนการเกษียณ

  1. ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน

           ซึ่งเป้าหมายหลังเกษียณนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ว่าต้องการที่จะมีวิถีชีวิตอย่างไร ซึ่งปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงก็คือเรื่องของสุขภาพ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว บุคคลที่ต้องมาดูแล เป็นต้น

      2. เริ่มต้นลงมือในการวางแผนการเกษียณให้เร็วที่สุด

           เนื่องจากการเริ่มต้นที่เร็ว ทำให้มีระยะเวลาในการออมเงินมากขึ้น รวมถึงการนำเงินไปลงทุน ที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเมื่ออายุมากแล้ว

3.ใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี

           จากค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การทำประกันชีวิตแบบบำนาญ การลงทุนในกองทุน RMF LTF ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์จากภาษีแล้ว ยังได้ประโยชน์ในเรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่ม เพื่อไว้ใช้ยามเกษียณอีกด้วย

       4.  เรียนรู้ในเรื่องการลงทุนประเภทต่าง

           หลายคนที่ต้องการทำแผนการเกษียณอายุ แต่ยังกลัวเรื่องการลงทุนอยู่ ควรศึกษาเรื่องการลงทุนเพิ่มเติม และการลงทุนนี้ไม่ได้เฉพาะแค่การลงทุนในตลาดเงิน ตลาดทุน หรือกองทุนต่างๆ ยังรวมถึงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อื่นๆด้วย เนื่องจากการออมเงินโดยวิธีปกตินั้น ไม่สามารถเอาชนะในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อได้

       5.  มีวินัยทางการเงินที่ดี

         เพราะเมื่อขาดวินัยที่ดีแล้ว  การวางแผนเกษียณแล้ว ย่อมมีผลกระทบต่อแผนการเกษียณที่วางไว้อย่างแน่นอน

ข้อผิดพลาดที่ทำให้แผนการเกษียณล้มเหลว

  1. เงินที่เก็บนั้นน้อยเกินไป   

           อาจเป็นเพราะการประเมินจำนวนเงินที่จำเป็นต้องใช้ภายหลังเกษียณน้อยเกินไป อาจเป็นเพราะขาดการคำนึงถึงในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ที่ทำให้มูลค่าเงินในอนาคตลดลงไป

  • คิดว่าเรื่องเกษียณอายุเป็นเรื่องที่ไกลตัว

           เพราะการวางแผนเพื่อเกษียณนั้นเป็นการวางแผนในระยะยาว อาจคิดว่ายังไม่จำเป็นในตอนนี้ แล้วไปวางแผนเอาในช่วงระยะเวลาที่ใกล้เกษียณแล้ว ซึ่งทำให้การไปถึงจุดหมายที่ต้องการรั้นเป็นไปได้ยากมากๆ

      3.  ประเมินอายุขัยสั้นไป

           เนื่องจากปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้มีความก้าวหน้าไปมาก ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของคนเรามากขึ้น ส่งผลให้จำนวนเงินที่ได้วางแผนไว้นั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ที่นานขึ้น

     4.  ขาดความเข้าใจเรื่องของการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ

           ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าเรื่องของภาษี หรือกองทุนต่างๆ

      5.  ไม่คำนึงถึงเรื่องสุขภาพยามเกษียณ

           เรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับบุคคลวัยหลังเกษียณอย่างมาก เพราะค่าใช้จ่ายในเรื่องของสุขภาพสำหรับคนวัยนี้ จะมากกว่าค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพตลอดชีวิตที่ผ่านมาก็ว่าได้

  • เมื่อได้เงินก้อนมาก็ใช้หมดอย่างรวดเร็ว

           ไม่ว่าจะนำไปใช้เพื่อการพักผ่อน หรือความสะดวกสบายต่างๆ รวมถึงการนำไปลงทุนโดยขาดความเข้าใจ ทำให้เงินก้อนที่อาจได้มาเป็นก้อนสุดท้ายนั้น ต้องหมดไปอย่างรวดเร็ว

     7. ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยด้านอัตราเงินเฟ้อ

           การวางแผนในระยะยาวนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นสิ่งแรกๆคือ อัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นการทำความเข้าใจในเรื่องของการลงทุนจึงจำเป็นอย่างมาก ในการที่จะเอาชนะเงินเฟ้อได้

      8. หวังพึ่งพาลูกหลาน หรือสวัสดิการต่างๆ

           ที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า โดยไม่คิดที่จะพึ่งพาตนเองซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงในการดำรชีวิตในยามเกษียณ